รายละเอียด |
“สิทธัตโถ” มีความหมายว่า ผู้ประทานความสำเร็จ
พระกริ่งสิทธัตโถ ที่จัดสร้างโดยพระครูสังฆบริรักษ์ มโนรมย์ และพระมหาชลอ กิตติสาโร มีทั้งหมดเพียง ๕ รุ่น ด้วยกัน โดยจัดสร้างขึ้น ๕ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๕๐๘, ๒๕๑๐, ๒๕๑๒, ๒๕๑๖ และ พ.ศ.๒๕๑๗
การประกอบพิธีครั้งนั้น นับว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มโหฬารมาก เพราะมีการประกอบพิธีทั้งทาง “พุทธศาสตร์, พราหมณ์ศาสตร์, โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ ครบถ้วนถูกต้องตามตำราการสร้างพระกริ่งทุกประการ
นอกจากนี้ ยังได้อาราธนาพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษทางวิทยาคม และทางวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง นั่งปรกปลุกเสก บริกรรมภาวนาถึง ๔๒ รูป และยังมีพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษลงอักขระพระยันต์ ๑๐๘ และ นะปถมัง ๑๔ นะ บนแผ่นนวโลหะ ตามพิธีการสร้างพระกริ่ง เพื่อให้องค์ พระกริ่งสิทธัตโถ มีคุณานุภาพยิ่งขึ้น จึงได้นำแผ่นโลหะอีกส่วนหนึ่งถวายเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช, สมเด็จพระราชาคณะ และพระมหาเถรานุเถระ ที่ล้วนแต่เป็นพระราชาคณะทั้งสิ้นรวม ๑๐๘ รูป ทรงลงอักขระเลขยันต์ รวมทั้งพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ ในทางวิทยาคมอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม ฯลฯ
พร้อมทั้งได้เมตตาลงอักขระเลขยันต์ ในแผ่นโลหะให้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งด้วย
อีกประการหนึ่ง เพื่อให้องค์ พระกริ่งสิทธัตโถ มีคุณานุภาพเป็นพิเศษยิ่งขึ้นจึงได้เลือกประกอบพิธี โดยนำชนวนเดิมจากพิธีดีๆ ต่างๆ ทั่วประเทศ มาหลอมเททองหล่อขึ้นเป็นองค์ พระกริ่งสิทธัตโถ และได้นิมนต์เชิญครูบาอาจารย์ต่างๆ รวมทั้งพระพระป่าสายกรรมฐาน ที่เป็นที่นับถือทั่วประเทศ มาร่วมพิธี พระกริ่งสิทธัตโถ อีกหลายท่าน ร่วมประกอบพิธีเททองหล่อองค์พระกริ่ง เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๘
หลังจากตกแต่งพระกริ่งเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานสมโภชขึ้นเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๘ โดยนิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ ร่วมนั่งปรกปลุกเสก ณ พระอุโบสถวัดบรมนิวาส ๔๒ รูป อาทิ
หลวงปู่นาค วัดระฆังโฆสิตาราม, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงปู่เฮี้ยง วัดอรัญญิกาวาส, หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ, หลวงพ่อบุญมี วัดเขาสมอคอน, หลวงพ่อบี้ วัดลานหอย, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง
หลวงพ่อสำเนียง วัดเวฬุวัน, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม, หลวงพ่อคำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์, หลวงพ่อทอง วัดถ้ำจักกระจั่น, หลวงพ่อทรงชัย วัดพุทธมงคลนิมิต, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อบัว วัดป่าพรสถิต, หลวงพ่อถวัล วัดหนองบัวทอง
หลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง, หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล, หลวงพ่อบุญมา วัดป่าสาละวัน, หลวงพ่อจันทร์ วัดศรีภูเวียง, หลวงปู่สิม วัดวัดถ้ำผาปล่อง, หลวงพ่อบัว วัดหนองแซง, หลวงพ่อคำพอง วัดราษฎร์โยธี, หลวงพ่อคำไหม วัดอรุณรังสี, หลวงพ่อคำผิว วัดป่าหนองแซง
หลวงพ่อวิริยังค์ วัดธรรมมงคล, หลวงพ่อวงษ์ วัดปริวาส, หลวงพ่อชื่น วัดตำหนักเหนือ, หลวงปู่ตื้อ วัดอโศการาม, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์, พระอาจารย์ฝั้น วัดถ้ำขาม, พระอาจารย์จวน วัดภูทอก, พระอาจารย์วัน วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม, หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว, หลวงพ่อทบ วัดชนแดน ฯลฯ
หลังเสร็จพิธีแล้ว ได้นำ พระกริ่งสิทธัตโถ ไปขอให้พระคณาจารย์ที่เป็น “พระอริยสงฆ์” นั่งปรกปลุกเสกเดี่ยวอีก ๒ รูป คือ หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง และ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ วัดเทพศิรินทร์ พระอรหันต์กลางกรุง
พระกริ่งสิทธัตโถ ที่สร้างในครั้งนั้น มี ๓ เนื้อ คือ ๑.เนื้อนวโลหะ สร้าง ๙๙๙ องค์ ทำบุญองค์ละ ๓๐๐ บาท ๒.เนื้อปัญจโลหะ ทำบุญองค์ละ ๑๐๐ บาท และ ๓.เนื้อสัมฤทธิ์ ทำบุญองค์ละ ๕๐ บาท
พระกริ่งรุ่นแรกนี้ มีทั้งแบบใต้ฐานเรียบ และ ใต้ฐานก้นถ้วย ตอกโค้ดคำว่า “สิทธัตโถ” ซึ่งเป็นลายมือ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ที่ฐานด้านหลัง
ด้านกระแสของโลหะ เนื้อนวโลหะ จะออกวรรณะเหลืองแล้วกลับเป็นสีดำเอง และแบบนวโลหะเต็มสูตร
พระกริ่งสิทธัตโถ นับเป็นพระกริ่งที่สร้างสมบูรณ์แบบด้วยพิธีกรรมและการปลุกเสก เป็นพระกริ่งในช่วงหลังกึ่งพุทธกาล ที่น่าเสาะหามาบูชาอีกรุ่น เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์และมีประสบการณ์ให้ประจักษ์มาแล้วหลายครั้ง ที่ปรากฏเด่นชัด คือ สามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายนานาประการได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
|